กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ความรู้ผู้ประกอบการประมวลหลักปฏิบัติที่ดีการนำเข้าส่งออกถ่านหิน
วันที่ 20 ส.ค. ที่โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภูมี ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายศุกร์วิบูล ปิ่นนิกร ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสัมฤทธิ์ กองเงิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางพงษ์ธร มิลินทบุณย์ พลังงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวุฒิพงษ์ คงเพชรศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มแร่เชื้อเพลิงธรรมชาติทางเลือก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์ประมวลหลักปฏิบัติที่ดีการนำเข้า/ส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน (Code of Practice; CoP) ภายใต้ “โครงการบูรณาการงานด้านถ่านหินโดยรวมของประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในส่วนของการเผยแพร่และปรับปรุงประมวลหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้า ส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน” เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการที่ดีด้านเชื้อเพลิงถ่านหินที่เป็นมิตรต่อการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ด้านการประกอบกิจการเชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศไทย มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง บริษัท ผู้ประกอบกิจการถ่านหิน เข้าร่วมกว่า 100 คน
นายภูมี ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกับบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินงานในส่วนของการเผยแพร่และปรับปรุงประมวลหลักปฏิบัติที่ดี สำหรับการนำเข้าและส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการยกระดับการประกอบกิจการเชื้อเพลิงถ่านหินของไทยให้ได้มาตรฐาน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ด้านการประกอบกิจการเชื้อเพลิงถ่านหิน ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2558-2577) ที่มีวิสัยทัศน์สู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน เรื่องการดำเนินงานด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ครอบคลุมตั้งแต่กิจกรรมการขนถ่าย การขนส่ง การกองเก็บ และการแปรรูปเชื้อเพลิงถ่านหิน รวมทั้งกรณีที่มีการเลิกกิจการ และเนื้อหาด้านความปลอดภัย และสุขอนามัยของคนงาน และประชาชนรอบสถานประกอบการ เพื่อการดำเนินกิจการด้านถ่านหินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับชุมชนโดยรอบ ยกระดับสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานสถานประกอบการเชื้อเพลิงถ่านหินที่ดี ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบการ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศไทยต่อไป
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นโครงการในการประมวลหลักปฏิบัติที่ดีมาสู่ผู้ประกอบการ ก็มีความคิดกันเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 61 เนื่องจากมีหนังสือเรื่องร้องเรียนเข้ามามากเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบในการประกอบกิจการถ่านหิน ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชน ก็มีการหารือกันระหว่าง 9 กระทรวง ก็เลยตั้งคณะทำงานขึ้นมา เมื่อปี 61 โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีองค์ประกอบของ 9 กระทรวงอยู่ด้วย เพื่อจะร่วมกันแก้ปัญหานี้ สุดท้ายก็มีการประมวลหลักปฏิบัติที่ดี เพื่อหวังว่าคู่มือเหล่านั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ผู้ประกอบการด้านบริหารถ่านหินสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถ่านหินมีความสำคัญต่อประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเราใช้ถ่านหินประมาณ 40 ล้านตันต่อปีทั้งประเทศ การใช้ในประเทศแค่ 15 ล้านตัน หลักๆอยู่ที่แม่เมาะ เล็กน้อยในจังหวัดลำปาง จากนั้น 25 ล้านตัน เป็นการนำเข้าทั้งหมด นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรีย อย่างไรก็ตามจำนวน 12.5 ล้านตัน นำมาขึ้นที่ท่านครหลวง ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง จึงจำเป็นในส่วนของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจาก 1 ตันมีปริมาณมาก ถ้าเรามีการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งทำให้สามารถแข่งขันได้ เป็นตัวที่จะช่วยได้มากกว่าหลาย 10 ปี 100 ปี เมื่อเทียบกับน้ำมันหรือก๊าชธรรมชาติ 30 – 50 ปีนั่นเอง
สำหรับโครงการ จะแก้ไขปัญหาได้ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ไม่ใช้กฎหมายบังคับ ที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม 12.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเยอะมากจะเป็นปัญหากับที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างทั้งหมด ที่เราจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ จะต้องเป็นการมองในภาพรวม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครหลวง บางปะอิน ที่มีท่าเรือการขนถ่านสินค้ามากที่สุดในประเทศ ซึ่งมีปัญหากับชุมชนพอสมควร การดูแลที่อาจจะไม่เพียงพอ นั่นคือที่มาที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะนำคู่มือเหล่านี้มาออกสื่อให้ประชาชนรับรู้ด้วย ส่วนกลางก็พยายามปฏิบัติตาม ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพยายามศึกษา เป็นการร่วมกันประมวลที่มีบทบัญญัติอยู่แล้ว อย่างเล่มนี้ยังไม่ใช่ผลสุดท้าย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมานำเสนอ มีการปรับปรุงที่คุยกันไว้ ในปี 62 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะปรับปรุงให้มันมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
นายอิศรา สุขจำเริญศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงถ่านหิน บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้มีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบคุณภาพที่นำเข้าและส่งออกผ่านประเทศไทย และรับผิดชอบเป็นผู้จัดการโครงการการจัดทำประมวลหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้าและส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน กล่าวถึงแนวทางในการนำเข้าและส่งออกถ่านหินในประเทศไทย ภายใต้ประมวลหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้าและส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน โดยเส้นทางการนำเข้าถ่านหินในประเทศไทยมี 4 เส้นทางหลักได้แก่
เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ท่าเรืออุตสาหกรรม จังหวัดระยอง เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ และท่าเรือในอำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง ในส่วนของเส้นทางส่งออกถ่านหินในประเทศไทย มี 3 เส้นทาง ได้แก่ ท่าเรืออำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกฐานหิน มี 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การขนถ่ายเชื้อเพลิงถ่านหิน การขนส่งเชื้อเพลิงถ่านหิน การกองเก็บเชื้อเพลิงถ่านหินและการแปรรูปเชื้อเพลิงถ่านหิน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ดังนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ผู้ประกอบการท่าเรือ ผู้ประกอบการขนส่งเชื้อเพลิงถ่านหินทั้งทางบกและทางน้ำ โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า รวมถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์จากถ่านหิน ประมวลหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้าและส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน จะทำให้สถานประกอบการดำเนินกิจการด้านถ่านหินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อชุมชนโดยรอบ ยกระดับสถานประกอบการและส่งเสริมสถานประกอบการด้านถ่านหินให้ได้มาตรฐานระดับสากล