อธิบดีกรมศิลปากรรับฟังปัญหาชาวบ้านหาข้อยุติเสาตะลุงขอยึดตามหลักฐานในการบูรณะ
จากกรณีกลุ่มชาวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยา ออกมาเรียกร้องให้กรมศิลปากรทบทวนและยกเลิกการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา และมีการตัดหัวเสาตะลุงออกจนเหลือเหมือนตอไม้ มองดูแล้วไม่สวยงามไม่ทรงคุณค่าเหมือนของเดิม ซึ่งเสาหัวตะลุงแบบเดิมจะเป็นลักษณะทรงมน ทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ออกมาชี้แจ้งถึงการบูรณะเสาตะลุง ยึดหลักตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่มีการค้นพบ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 31 พ.ค. ที่เพนียดคล้องช้าง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ที่เกิดปัญหาการคัดค้านโต้แย้ง กับชาวบ้าน ใน ต.สวนพริก และชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการนำภาพถ่าย ซึ่งระบุว่า ถ่ายในสมัยรัชกาลที่4 รัชกาลที่ 5 มาเปรียบเทียบ ซึ่งบริเวณที่เรียกว่าปีกกา หรือบริเวณด้านนอกของเพนียดคล้องช้าง ซึ่งเสาตะลุงไม่มีหัวบัว
นายนพพร ขันธนิกร อายุ 35 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ต.สวนพริก ตัวแทนของชาวบ้าน พร้อมกับ ชาวบ้านอีก 3 คน ได้เข้ามาพูดคุยกับนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อหารือการบูรณะเสาตะลุง ขอให้ทางกรมศิลปากรทบทวนการบูรณะเพื่อให้เกิดความสวยงามตามแบบที่มีการบูรณะ ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ที่ชาวบ้านทุกคนรวมถึงนักท่องเที่ยวได้จดจำภาพความงดงามนั้นเอาไว้ การที่ชาวบ้านมารวมตัวกันเรียกร้องให้ทางกรมศิลปากรทบทวน มีการล่วงเกินอะไรไป ต้องขอโทษทุกท่านด้วย เป็นเพราะความรักความผูกพันกับเสาตะลุง เพนียดคล้องช้าง
นายสายันต์ ขันธนิยม อายุ 63 ปี อดีตข้าราชการครู กล่าวว่าตนเองเป็นชาวอยุธยาเกิดมาโตมาก็เห็นเสาตะลุงลักษณะนี้ ซึ่งการบูรณะได้ยึดตามในสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นต้นมา ซึ่งมีความสง่าสวยงาม ถ้าหากจะยึดการบูรณะแบบโบราณตามหลักฐานที่พบกัน โบราณสถานหลายแห่งถ้านำภาพมาเปรียบเทียบ เช่น ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดราชบูรณะ ไม่มีทางเดินในวัด แต่กรมศิลปากรบูรณะมีทางเดิน
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว่า ตนเองต้องขอบคุณพี่น้องชาวอยุธยาที่ออกมาหวงแหนโบราณสถาน ซึ่งจากการพูดคุยกับชาวบ้านก็เข้าใจในเจตนาของชาวบ้านซึ่งตนเองพร้อมผู้ว่าราชการจะนำเรื่องไปหารือกันอีกครั้งเพื่อหาทางออกและความเหมาะสมกับการบูรณะในครั้งนี้
พ.อ. ชัยยา จุ้ยเจริญรอง รอง ผอ.กอ.รมน. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จาการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านรับฟังเหตุผลของชาวบ้าน ส่วนของกรมศิลปากรยึดถือหลักตามหลักวิชาการความถูกต้องในการบูรณะซึ่งต้องยึดถือประวัติศาสตร์ จึงเป็นความถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ชาวบ้านที่มีความผูกพันมากับเพนียดคล้องช้างและเสาตะลุง ไม่มีใครคิดผิดไม่มีใครทำผิด ทางท่านอธิบดีได้บอกว่าหากชาวบ้านหรือใครที่มีภาพหรือหลักฐานอะไรที่ยืนยันได้ว่าก่อนสมัยรัชกาล 4-5 เสาตะลุงบริเวณปีกกา มีหัวเสา ให้นำหลักฐานมาแสดง ทางกรมศิลปากรยินดีที่จะทำให้กลับมาเหมือนเดิม