กรมศิลปากรยันยึดหลักการบูรณะเพนียดคล้องช้างตามประวัติศาสตร์ชาวบ้านไม่พอใจเตรียมเข้าพบนายก
จากกรณีกลุ่มชาวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยา ออกมาเรียกร้องให้กรมศิลปากรทบทวนและยกเลิกการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา และมีการตัดหัวเสาตะลุงออกจนเหลือเหมือนตอไม้ มองดูแล้วไม่สวยงามไม่ทรงคุณค่าเหมือนของเดิม ซึ่งเสาหัวตะลุงแบบเดิมจะเป็นลักษณะทรงมน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 27 พ.ค. ที่เพนียดคล้องช้าง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กลุ่มชาวบ้านใน ต.สวนพริก ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบเพนียดคล้องช้าง รวมถึงชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มารวมตัวกันพร้อมกับถือแผ่นป้าย มีข้อความเรียกร้อง “วอนกรมศิลปากร แก้แบบทัศนอุจาด บาปกรรม” “ โบราณสถานทำไว้ดี ทำไมมาเปลี่ยนแบบคิดได้ไง “ชาวสวนพริก ไม่เอาหัวเสาตะลุง”
ต่อมา น.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนักวิชาการ เจ้าหน้าที่เดินทางมาพบกับกลุ่มชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้าน น.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การที่ชาวบ้านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านเรื่องการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ตัดเอาหัวเสาตะลุงออก นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ชาวบ้านมีความตื่นตัวรักหวงแหน ทรัพย์สมบัติของชาติโบราณสถานของชาติ การที่ทางกรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ทางกรมศิลปากรเรายึดถือตามหลักฐานสืบค้นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพบว่าเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพนียดคล้องช้างจะอยู่ใกล้กับพระราชวังจันทรเกษม ต่อมาในรัชกาลที่ 3 มีการรื้อฟื้นการประกอบพิธีคล้องช้าง ย้ายมาที่บริเวณ ต.สวนพริก ต่อเนื่องมาในช่วงรัชกาลที่ 4 จึงเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามา และมีหลักฐานปรากฎเป็นภาพถ่ายซึ่งถ่ายโดยชาวต่างชาติ พบว่าบริเวณล้อมนอกของเพนียดคล้องช้าง พบว่าเสาตะลุงไม่หัว มีลักษณะเหมือนกันเสาไม้มาปักเอาไว้ตามลักษระที่มีการบูรณะ ส่วนภายในเชิงเทิน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีการคล้องช้างของพระมหากษัตริย์ หัวของเสาตะลุงจะมีลักษณะหัวมนตามภาพที่เราเคยเห็นกัน หลังจากนั้นการประกอบพิธีคล้องช้างไม่มีการประกอบขึ้นอีก จนในช่วงปี 2500 มีการบูรณะเพนียดคล้องช้างขึ้นเพื่อ ประกอบพิธีคล้องช้าง โดยในหลงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเชิญพระเจ้าเดนมารค์ และราชินี มาทรงทอดพระเนตรการคล้องช้าง หลังจากนั้นมีการบูรณะเพนียดคล้องช้างอีก 2 ครั้งในปี 2530 และในปี 2550 จนมาถึงปี 2561 จึงมีการบูรณะอีกครั้ง ทางกรมศิลปากรจึงได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์โดยยึดถือเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ชาวบ้านต่างไม่พอใจส่งเสียงรับไม่ได้การการที่จะต้องตัดเอาหัวเสาตะลุงที่ชาวบ้านพบเห็นมาหลายสิบปี
นายนพพร ขันธนิกร อายุ 35 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชาวบ้านเวลาที่จะทำบุญที่เพนียดคล้องช้างต้องทำหนังสือขอนุญาติไปที่กรมศิลปากร แต่กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะเพนียดคล้องช้าง ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติของชาติเป็นของคนไทย ทำไมไม่มาสอบถามชาวบ้านทำประชาคมมาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ระหว่างการก่อสร้างมีการปิดล้อมรั้วชาวบ้านไม่เห็นว่ามีการทำอย่างไรบ้างกับโบราณสถานของชาติ จนพอเอารั้วออกพบว่าเสาตะลุงที่ตนเองเห็นมาตั้งแต่จำความได้ คนเฒ่าคนแก่ก็เห็นมาว่าเสาตะลุงนั้นมีลักษณะเป็นหัวทรงมน กลับมาถูกตัดจนเหมือนตอไม้ไม่สวยงามแบบเดิม จะมาอ้างเอาภาพถ่ายในสมัยรัชกาล 3-4 มาบอกชาวบ้านชาวบ้านไม่รู้หรอกเพราะเกิดไม่ทันทำไมไม่มาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จึงอยากให้กรมศิลปากร ทำการบูรณะเสาตะลุงให้กลับมาเหมือนเดิมหากมาทำการตัดเอาหัวเสาตะลุงออก เรียกว่าการทำลายมากกว่าการบูรณะ
จากนั้นกลุ่มตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือให้กับทางนางนางจิระพันธ์ พิมพ์พันธุ์ ประธานสภาวัฒนะธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ช่วยติดตามทวงถามคัดค้านการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ไม่ให้มีการตัดเอาหัวเสาตะลุงออก หากไม่เป็นที่พอใจจะเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี
ประธานสภาวัฒนะธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าในส่วนของตนเอง ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่มีการตัดเอาหัวเสาตะลุงออก เพราะมองดูแล้วไม่สวยงาม ไม่เป็นไปตามรูปแบบเดิมที่ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวได้เห็นได้บันทึกภาพไปทั่วโลกถึงความสวยงาม อยุธยาได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์กรยูเนสโก้ ตนจะดำเนินการสอบถามไปยังอธิดีกรมศิลปากรเพื่อขอให้ยกเลิกการบูรณะด้วยวิธีการตัดเอาหัวเสาตะลุงออก