สาธารณสุขพระนครศรีอยุธยา เปิดคลินิก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ที่ โรงพยาบาลบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิด กิจกรรม “คนไทยห่างไกล NCDs” และเป็นประธานเปิดโครงการอบรมอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร เรื่องการนำแนวคิดเวชศาสตร์วิถี (LM) มาใช้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่ระยะสงบ โดยแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลบางปะอิน พร้อมมอบป้าย NCDs Remission Clinic ให้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 22 แห่ง ในอำเภอบางปะอิน โดยมี บุคลากรของ คปสอ.บางปะอิน อสม.ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน เข้ารับการอบรม
นายแพทย์ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวว่า กลุ่มโรค NCDs หรือโรคาเบาหวาน เป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของโลก สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรค โดยรวมสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การกินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีอาการเครียดสูง เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา คือภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และภาวะน้ำหนักเกิน ไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยการเปิด NCDs Remission Clinic มีเป้าหมายร่วมกัน คือ เพื่อให้ผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม นำไปสู่การหยุด ลดการใช้ยา รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการด้านการป้องกัน และควบคุมการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นพ.ชวนนท์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดตั้ง NCDs Remission Clinic การจัดบริการผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่ระยะสงบ เป็นการบูรณาการร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ และภาคีเครือข่าย ในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวาน สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์โดยไม่ต้องใช้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา