กลุ่มพาณิชย์ตะวันออกแถลงข่าวจัด มหกรรมการค้าชายแดน ภาคตะวันออก สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ที่ห้อง Meeting Room 3 ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา นายณรงค์ เทพเสนา รองผวจ.ตราด เป็นประธานในงานแถลงข่าว การจัดงาน “มหกรรมการค้าชายแดน ภาคตะวันออก สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ 26-30 ม.ค. ชั้น1 ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค ตามโครงการยกระดับการค้าภาคตะวันออกสู่สากล เชื่อมโยงการค้าชายแดนและ EEC
โดยมี นางวรัญญา ถนอมพันธุ์ พาณิชย์จังหวัดตราด นางเอกอนงค์ บัวมาศ พาณิชย์จังหวัดชลบุรี นางสุภารัตน์ วิวัฒนานนท์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค และนายชานนท์ สุวรรณาภินันท์ รองประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกันแถลงข่าว
นายณรงค์ เทพเสนา รองผวจ.ตราด แถลงถึงความพร้อมของจังหวัดตราด ในการเชื่อมโยงการค้าทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากจังหวัดตราดมีที่ตั้งอยู่บนเส้นทาง แนวระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) ตามแนวเส้นทางพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ผ่านเส้นทาง R-10 เริ่มตั้งแต่กรุงเทพมหานครผ่านมายังอำเภอคลองใหญ่ ผ่านพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตราด ครอบคลุมพื้นที่ 50.2 ตารางกิโลเมตร ณ อำเภอคลองใหญ่ ผ่านจังหวัดเกาะกงที่เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ และท่าเรือน้ำลึก สีหนุ-วิลล์ สิ้นสุดที่จังหวัดกเมาประเทศเวียดนาม เป็นระยะทาง 970 กิโลเมตร โดยจังหวัดตราด มีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ เช่น การคมนาคมขนส่งที่สะดวก มีสนามบินทั้งของรัฐและเอกชนรวม 3 แห่ง มีท่าเรือ และเส้นทางคมนาคมที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและทำธุรกิจควบคู่ไปกับบริบทความเป็นเมือง จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ และประตูทางการค้าที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในแง่ของจังหวัดตราดเอง มีวิสัยทัศน์ “เมืองท่องเที่ยว การเกษตร เศรษฐกิจสังคมตราดมีคุณภาพคุณธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มุ่งพัฒนาเป็น Green City ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และทิศทางการบริโภค ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจังหวัดตราดมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี มีภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งธรรมชาติ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเกาะครึ่งร้อย รวมทั้งภาคเกษตรที่มีชื่อเสียงในการผลิตสินค้าผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้แก่ ทุเรียน (ทุเรียน GI ชะนีเกาะช้าง) เงาะ มังคุด สับปะรด (สับปะรด GI ตราดสีทอง) การจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน ภาคตะวันออก สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ปี 2567 ที่กำลังจะมีขึ้น เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการจากจังหวัดตราด และภาคตะวันออก จะได้แลกเปลี่ยน และทำการค้ากับผู้ประกอบการในจังหวัดอยุธยา และภาคกลาง ในขณะเดียวกันผู้บริโภคในพื้นที่ ก็มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าที่มีความแปลกใหม่ในงาน เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง
นางวรัญญา ถนอมพันธุ์ พาณิชย์จังหวัดตราด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกับกระตุ้นยอดจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน กิจกรรมในงานจะประกอบด้วยการแสดงและจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการภาคตะวันออก 8 จังหวัด (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว จันทบุรี และตราด) จำนวน 100 คูหา กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ในวันที่ 26 มกราคม 2567 ระหว่างผู้ประกอบการของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก กับผู้ประกอบการจากกลุ่มจังหวัดภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้ประกอบการจากประเทศกัมพูชา ซึ่งได้เชิญนักธุรกิจจากจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดเกาะกง เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ส่วนกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ตลอดระยะเวลาการจัดงาน ประกอบด้วยดารานักร้องนักแสดง อาทิเช่น กานต์ ทศน นุ้ย สุวีณา อาร์ สยาม เป็นต้น รวมถึงมีการจัดกิจกรรมลด แลก แจก แถม นาทีทอง และจับรางวัล เพื่อดึงดูดผู้ซื้อภายในงานอีกด้วย
ทางด้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานในครั้งนี้ นางสุภารัตน์ วิวัฒนานนท์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอยุธยา ได้กล่าวแถลงว่า จังหวัดอยุธยามีความพร้อมในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคอื่น โดยโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดอยุธยา มีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัด ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 74.1 ภาคบริการ ร้อยละ 23.8 ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 2.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรม แต่ยังมีความต้องการเชื่อมโยงสินค้าระหว่างสินค้าสินค้าเกษตร เพื่อการผลิต และการบริโภค จากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เกิดการสร้างเครือข่ายการประกอบธุรกิจ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางธุรกิจระหว่างภูมิภาคอีกด้วยในฐานะสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเจ้าบ้าน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้