นพ.ชลน่าน ส่งเสริมให้คนไทยมีลูก ให้เป็นวาระแห่งชาติ ห่วงประชากรไทยเหลือแค่ 33 ล้านคน
ส่งเสริมให้คนไทยมีลูก
วันที่ 6 ธันวาคม ที่สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ อสม.อำเภอบางปะอิน ให้การต้อนรับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข ในโอกาส เป็นประธาน เปิดการประชุมสัญจรผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนการส่งเสริมเพิ่มเด็กไทยเกิดดี มีคุณภาพ Give Birth Great World โดยมีการประชุมบนขบวนรถไฟ จากสถานีหัวลำโพงมาถึง สถานีรถไฟบางปะอิน มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางปะอิน เจ้าหน้าที่รพสต.ในพื้นที่ของอำเภอบางปะอิน และเจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อให้ช่วยเป็นแรงผลักดันให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนอยากมีลูกเพื่อเป็นการเพิ่มประชากรของประเทศไทย
จากนั้นเดินทางไปที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับพูดคุยกับครอบครัวที่สมัครใจเข้ารับคำปรึกษา อยากมีบุตร และมีบุตรยาก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการใช้ปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ การมีลูก เนื่องจากวัฒนธรรมไทยแต่โบราณมีการใช้ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยผูกไว้เหนือเปลให้เด็กได้เคลื่อนไหวสายตาและการสัมผัส อีกทั้งปลาตะเพียนยังเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำด้วย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศ ที่มีการเกิดน้อยกว่าการตาย ถ้าไม่ช่วยกัน เราจะเป็นประเทศที่มีปัญหาในการดำรงคงอยู่ การดูแล การสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ จะไม่มีคนทำงาน ในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยอีก 60 ปีข้างหน้า จะมีประชากรแค่ 33 ล้านคน ลดลงครึ่งหนึ่ง ที่น่าตกใจคือจะมีวัยทำงานแค่ 14 ล้านคน อย่างไรก็ตาม อสม. มีส่วนสำคัญในการไปทำความเข้าใจให้ลูกหลานยอมรับในการมีลูก ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องยากมากในยุคนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ปฏิเสธการมีลูก เนื่องจากกังวลเรื่องเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความไม่พร้อมต่างๆ
จะใช้ยุทธศาสตร์การอนามัยเจริญพันธุ์ตามกฎหมาย และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งคณะกรรมการ ที่มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน ทำร่วมกับคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มีหลายหน่วยงานหลายกระทรวงเข้ามาร่วม
เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือมหาดไทย เป็นต้น ชุดนี้จะยกร่างแผนว่าจะส่งเสริมการเกิดเป็นวาระแห่งชาติ จะต้องมีคำตอบในการขับเคลื่อนงานลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเกิดมามีคุณภาพดี ดังนั้น การดูแลตั้งแต่ก่อนแต่งงานในวัยเจริญพันธุ์ ก็ต้องดูแลอย่างเข้มข้น ซึ่งมั่นใจว่าในมิติสาธารณสุขนั้นพร้อมเต็มที่ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัย ความมั่นคงต่างๆ มาผสมผสาน พอผลักแผนเข้าไปที่จะประกาศเป็นวาระ ก็จะทำให้นายกฯ และ ครม. เห็นชอบที่จะประกาศ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะมีการประชุมในวันที่ 25 ธ.ค. นี้
“ตรงนี้เป็นแผนเร่งรัด 100 วัน ว่าหากประกาศวาระแห่งชาติ ก็คือสัมฤทธิผลเบื้องต้นในขั้นที่เราขอ Quick Win ก่อน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนค่าเลี้ยงดูเพิ่มตามจำนวนบุตรก็จะเป็นข้อเสนอ ในมุมของมิติการดูแลด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ แต่ละกระทรวงก็จะมีบทบาทหน้าที่ทำเข้ามา แต่อยู่ในรูปคณะกรรมการ เราเน้นมิติสุขภาพ เราดูแลสุขภาพพ่อแม่ เด็กในท้อง คลอดเกิดมาเราคัดกรองทั้งหมด โรคที่เป็นปัญหา 40 โรคด้านพันธุกรรม ถ้าผิดปกติจะได้ดูแลรักษาได้ บางโรคไม่สามารถคลอดได้ ก็ต้องไม่ให้คลอด รวมถึงเรื่องวัคซีนต่างๆ การดูแลเข้าสู่วัยเรียน กำลังผลักดันว่าจะมีสวัสดิการให้เรียนจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ขึ้นกับแผน” นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำ