เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มการระบายน้ำรับฝนจากอิทธิพลพายุมังคุด การระบายน้ำไม่ส่งผลกระทบเหนือและท้ายเขื่อนพระรามหก
กรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำไหลเข้าเขื่อนมาก จึงต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับฝนจากอิทธิพลของพายุมังคุด ที่จะทำให้ฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้ (16 ก.ย. ถึง 18 ก.ย.2561 นี้)
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุบารีจัต-มังคุด ทำให้มีฝนตกบริเวณลุ่มน้ำเพชรบูรณ์และลุ่มน้ำป่าสักมาก ดังนั้น ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
จังหวัดลพบุรีวันละประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เกณฑ์เก็บกักของเขื่อน (Rule Curve) อยู่ที่ 511.09 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำในอ่างมีปริมาตรเพิ่มขึ้น 4.31 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมมีน้ำในอ่าง 506.78 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกัก
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักชลประทานที่ 10 บริหารจัดการน้ำ โดยเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักฯ เป็นขั้นบันไดจากเวลา 12.00 น.เมื่อวานนี้ (15 ก.ย. 61) ระบาย 420 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วปรับเพิ่มขึ้นเป็น 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนเวลา 06.00 น.วันนี้ระบายที่ 450.78 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็น 38.95 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อจะลดระดับน้ำหน้าเขื่อนป่าสักฯ ให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกลงมาต่อเนื่อง ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่า ยังจะมีฝนชุกต่อเนื่องระหว่างวันที่ 16 – 18 ก.ย.นี้ จากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นมังคุดซึ่งจะเคลื่อนที่สู่จีนตอนใต้ค่ำวันนี้
ปริมาณน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลมายังเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้บริหารจัดการโดยรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ 51.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วระบายผ่านเขื่อนพระรามหก 490 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอัตราการระบายดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนโดยเฉพาะที่ อ.ท่าเรือ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีฝนตกลงมาเพิ่ม กรมชลประทานก็จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในเขื่อน โดยได้วางมาตรการรับน้ำเข้าระบบรับน้ำและระบายน้ำของชลประทาน แล้วใช้เขื่อนพระรามหกเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ ซึ่งจะควบคุมอัตราการระบายไม่ให้เกินกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ พื้นที่แก้มลิงรวม 290,130 ไร่ ในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 10 นั้น เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้เป็นพื้นที่สำหรับรองรับปริมาณน้ำหลาก ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งในลุ่มน้ำป่าสัก และ จ.พระนครศรีอยุธยา
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมชลประทาน