อยุธยาซิตี้พาร์ค ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน แถลงข่าว ประกวดปลากัด
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง Meeting Room 4 ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค คุณวงศพัทธ์ รังสรรค์ปรีชา ประธานชมรมประกวดปลากัดสวยงาม และกรรมการผู้จัดการผลิตภัณฑ์ซูม่า คุณมนูธรรม หาญณรงค์พาณิชย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม และเจ้าของกิจการธุรกิจฟาร์มลุงแดงปลากัดยักษ์ไทย คุณชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และ คุณชัยวัฒน์ ลีเลียง นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว แถลงข่าวจัดประกวดปลากัด “จากอโยธยา สู่ Galaxy” วันที่ 13-15 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค
ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค กล่าวถึงการจัดงานประกวดปลากัด (สวยงาม) ปลากัด (พื้นบ้าน) และ บอนสี (แห่งประเทศไทย) “จากอโยธยา สู่ Galaxy” ถือว่าเป็นการจัดงานครั้งแรก ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ ชมรมปลากัด (สวยงาม), ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย และที่ยิ่งไปกว่านั้นการมาจัดการประกวดปลากัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่า ซึ่งในสมัยนั้นเวลาว่างจากการศึกสงคราม ชาวบ้านมักจะเล่นกีฬาการกัดปลากันอย่างสนุกสนาน แต่ในการประกวดครั้งนี้ไม่ได้เน้นด้านกีฬา แต่เน้นเรื่องความสวยงามของสีสันและการพัฒนาสายพันธุ์ ให้รู้จัก “ปลากัดไทย” มากขึ้น
การจัดงานประกวดครั้งนี้ อยุธยาซิตี้พาร์คต้องการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้เล่น ผู้ที่สนใจ และผู้ที่ชื่นชอบการเพาะพันธุ์ปลากัดให้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนกัน เป็นการกระตุ้นวงการปลากัด บอนสีให้กลับคึกคักอีกครั้ง และในด้านความร่วมมือและการสนับสนุนการจัดงาน อยุธยาซิตี้พาร์จัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดการประกวดปลากัด ปลากัดพื้นที่ บอนสี กว่า 600 ตร.ม. บริเวณชั้น 1 หน้าโลตัส และร่วมสนับสนุนถ้วยรางวัลในนามศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จำนวน 120 ถ้วย, เหรียญรางวัล จำนวนกว่า 200 เหรียญ
คุณวงศพัทธ์ รังสรรค์ปรีชา ประธานชมรมประกวดปลากัดสวยงาม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมการประกวดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรม จากทางศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค
เป็นอย่างดีเป็นการส่งเสริม กลุ่มผู้เลี้ยงปลากัดพื้นบ้าน เพราะพันธุ์ปลากัดสวยงาม และบอนสี เพื่อส่งผลต่อภาคเกษตรกรและการตลาด ให้มีความยั่งยืนโดยการผลักดัน วงการปลากัดสวยงาม ให้มีความต้องการสูงขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั่วโลก ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มีอยู่อย่างแพร่หลาย ซึ่งไฮไลท์การจัดประกวด ในครั้งนี้จัดใหญ่ที่รุ่นหลัก 17 รุ่นและรุ่นย่อย 50 รุ่นรวม 67 รุ่น ซึ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดอยุธยาที่เคยมีมา และมากกว่านั้นยังมีพันธมิตร จากชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เรียกได้ว่าการประกวดนั้นรวมกว่า 100 รุ่นการแข่งขันเลยทีเดียว
อีกทั้งทางชมรมฯ ยังมีการ ส่งเสริมปลาที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมปลากัด หางสั้น หางยาว ให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันยังเวทีสากล และ การแข่งขันแสดง สายพันธุ์ปลากัดที่มีสีสัน ลวดลายคล้ายธงชาติไทยและทั่วโลก เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เปิดให้รวบรวมสีธงชาติทั่วโลก
ตลอดจนปลาที่ได้อันดับสองให้มีการสนับสนุนชิงรางวัลยอดเยี่ยมอันดับสองอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนา เทคนิคการถ่ายภาพแบบ Art และ การเพาะพันธุ์ปลากัด ละอองดาว กาแลคซี่ จากผู้มีประสบการณ์ ในครั้งนี้ กิจกรรมการออกร้านจัดจำหน่ายปลากัดสายพันธุ์เกรดคุณภาพ ภายในงาน บอนสี ปลากัดพื้นบ้าน กิจกรรมเกมส์และการแจกของรางวัล สายพันธุ์ปลา มากมาย
คุณชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน กล่าวว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดพื้นบ้านดั้งเดิม (Betta Splendens) เท่าที่สืบค้นข้อมูลมาได้ มีความเกี่ยวพันกับสังคมไทยมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่สุโขทัยจนถึงปัจจุบัน และการเลี้ยงปลากัดก็เข้าถึงในทุกชนชั้นตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าขุนมูลนายถึงพระมหากษัตริย์ ในยุคแรกนิยมหากันมาเลี้ยงเพื่อสันทนาการหรือการพนัน แต่ภายหลังปัจจุบันนำมาพัฒนาสีสันแลดูแปลกตา จึงนิยมนำมาเป็นเกมส์ประกวดกันมากขึ้น
ปลากัดป่าหรือปลากัดพื้นบ้านดั้งเดิม เป็นรากเหง้าหรือต้นตอของปลากัดสวยงามที่เห็นกันในปัจจุบัน ดังที่จะขอเสนอปลากัดป่าที่ถูกพัฒนาได้จนมีสีสันคล้ายปลากัดแบล็คซามูไร แต่ยังคงรูปทรงเพรียวบางความมีเสน่ห์ของปลากัดป่าอยู่ ความแปลกใหม่สวยงามนี้ทำให้สร้างมูลค่าสูงถึงตัวละกว่า 5 พันบาท และอนาคตอันใกล้นี้เราจะได้เห็นการพัฒนาปลาสายนี้ในรูปแบบ “ปลากัดลาย กาแล็กซี” อีกด้วย
คุณชัยวัฒน์ ลีเลียง นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย (บอนสี Caladium) กล่าวว่า บอนสีมีในเมืองไทยมานานแล้ว และได้มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาในเมืองไทยราวต้นรัชกาลที่ 5 หรืออาจก่อนนั้น ครั้งสำคัญคือคราวเสด็จประพาสยุโรป ได้นำพรรณไม้นานาชนิดเข้ามาในไทยรวมถึงบอนสีด้วย ต่อมามีการศึกษาการขยายพันธุ์และผสมพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ และนิยมเลี้ยงในหมู่เจ้านายและผู้มีฐานะใส่กระถางเคลือบวางโชว์รอบเรือนเป็นการอวดบารมี จนได้ชื่อว่าบอนเจ้า
ยุคเฟื่องฟูของบอนสีคือ ปี 2474-2475 บาร์ไก่ขาว สถานที่นัดพบของนักเลงบอนสีในยุคนั้น มีการนำมาประชันอวดโฉมตลอดจนให้ชื่อ โดยอิงตามวรรณคดีไทย เช่นตับขุนช้างขุนแผน ตับอิเหนา ตับนก เป็นต้น ต่อมาราวปี 2509 เป็นต้นมามีการนำเข้าบอนใบยาวหรือใบจีนมีความอ่อนช้อยสวยงามและผสมได้สายพันธุ์ใหม่ๆมากมายจนถึง 2525 ที่มีการก่อตั้งสมาคมขึ้นมา และดำเนินการประกวดบอนสีมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2548 – 2549 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ก่อกำเนิดสมาคมบอนสีรวมถึง 2 สมาคม เห็นได้ว่าบอนสีมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก และในปี 2565 นับเป็นยุคทองแห่งบอนสีก็ว่าได้ ด้วยมีการผสมบอนสีสายพันธุ์ด่างป้าย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดความสนใจในวงกว้างและซื้อขายต้นละหลักแสนบาทเลยทีเดียว และในปีนี้เองก็ได้ก่อกำเนิดสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย อันเป็นสมาคมที่เกี่ยวกับบอนสีลำดับที่ 3
บอนสีและปลากัด ต้องเรียกว่าเป็นของคู่กัน เพราะเป็นที่นิยมสะสมมาตั้งแต่อดีต มีการประกวดประชันแข่งขันกันมาโดยตลอด และครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญที่ปลากัดและบอนสีได้เฉิดฉายเคียงคู่กันอีกครั้ง
คุณมนูธรรม หาญณรงค์พาณิชย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม และเจ้าของกิจการธุรกิจฟาร์มลุงแดงปลากัดยักษ์ไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ซึ่งเล็งเห็นประโยชน์จากการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมภาคเกษตรกรและผู้เพาะเลี้ยงทำให้เกิดสภาพคล่องทางอุตสาหกรรมการตลาดในธุรกิจปลากัดสวยงาม ซึ่งมียอดส่งออกเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มปลาสวยงามทั้งหมดซึ่งเล็งเห็นว่า มีความต้องการทางการตลาดสูงมาก
และการประกวด จะเป็นตัวเชื่อมโยงที่จะประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศและสู่สากลในกลุ่มผู้เลี้ยงและผู้สนใจ ให้เกิดความหลงใหลในความงดงามของปลากัดไทย อีกทั้งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มมูลค่าค้าส่งและค้าปลีกได้อีกด้วย และในงานนี้เราก็ได้นำปลากัดยักษ์ไทยซึ่งมีการพัฒนามามากกว่า 20 ปี โดยทำให้ขนาดลำตัวของปลากัดมีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง 2 เท่า มาจัดแสดงอีกด้วย