กรมทางหลวง สรุปรูปแบบการก่อสร้างขยายถนนเลี่ยงเมือง 356 คาดแล้วเสร็จปี 72
วันที่ 26 เมษายน 2566เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอยุธยาแกรนด์โฮเต็ลจ.พระนครศรีอยุธยา นายไพรัตน์ เพชยวน รองผวจพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ(สัมมนา ครั้งที่ 3 โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและ ออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 356 (ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้) เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมการประชุม
ในการจัดประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาเส้นทางโครงการจุดเริ่มต้นถนนทางหลวงหมายเลข 356 กม.0+000และจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 356 กม.9 +401 รวมระยะทาง 9.401 กิโลเมตร
มีรูปแบบการพัฒนาโครงการเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. รูปแบบการปรับปรุงทางหลวงโครงการ ดำเนินการขยายเป็น 4 ช่องจราจร โดยบริเวณกม.1+500 ถึง กม.9+400 ออกแบบเป็นเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง มีความกว้างของช่องจราจรช่องละ 3.5 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร
ส่วนรูปแบบเกาะกลางบริเวณ กม.0+000-1+500 ออกแบบเป็นเกาะกลางแบบเกาะยก เพื่อให้ความกว้างสอดคล้องกับสะพานยกระดับข้ามทางแยกสี่แยกบ้านกรด
2. รูปแบบจุดตัดทางแยก โดยโครงการมีการพัฒนาจุดตัดทางแยกทั้ง 3 แห่ง ดังนี้
2.1 จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 32 จุดเริ่มต้นโครงการ) ออกแบบเป็นสะพานยกระดับแบบเชื่อมโดยตรง (Directional Ramp) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 (ไปกรุงเทพ) สะพานมีขนาด 1 ช่องจราจรความกว้างสะพาน 8 เมตร ไหล่ด้านนอกกว้าง 2 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร
2.2 จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 347 (จุดสิ้นสุดโครงการ) ออกแบบเป็นสะพานยกระดับแบบเชื่อมโดยตรง(Directional Ramp) ระดับ 2 ในทิศทางเลี้ยวขวาทั้งสองทิศทาง มีความกว้างของสะพานขนาด 1 ช่องจราจรกว้าง 8 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร 2.3 จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 เทศบาลเมืองบ้านกรด ออกแบบเป็นสะพานยกระดับ (Flyover) ข้ามทางแยกและข้ามค ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจร 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3.5 เมตร และทางเท้ากว้าง 1.:5 เมตร โดยจุดตัดทางแยกทั้ง 3 แห่ง ออกแบบโครงสร้างเป็นรูปแบบ สะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องใช้ชิ้นส่วนหล่อสำเร็จ (Precast Segmental Box Girder) เพื่อลดระยะเวลาในการก่อสร้างและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
3. โครงสร้างสะพาน มีรูปแบบการพัฒนาดังนี้
3.1 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานเกาะเรียน)ออกแบบโครงสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานยื่นสมดุล (Balance Cantilever) โดยปรับปรุงและออกแบบสะพาน เพิ่ม 1 สะพานขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3.5 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร พร้อมทั้งทางเท้ากว้าง 2.5 เมตร
3.2 สะพานข้ามทางรถไฟ ออกแบบโครงสร้างสะพานใหม่เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงแบบหล่อในที่(Prestressed Concrete Bridge Slab) หนา 1.2 เมตร ความสูงไม่น้อยกว่า 5 เมตร โครงสร้างส่วนล่างของสะพานออกแบบเป็นเสาเดี่ยว 3.3 สะพานข้ามคลองสาธารณะ กม.ที่ 7+000 ออกแบบสะพานข้ามคลองสาธารณะ ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตรไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร และทางเท้ากว้าง 2.5 เมตร มีจุดกลับรถขนาดเล็กบริเวณใต้สะพานและเชื่อมถนนท้องถิ่นเดิม
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ มีแนวคิดการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น เพื่อให้มีความโดดเด่นและเป็นจุดสังเกต (Land Mark) ซึ่งแบ่งลักษณะการใช้งานของแต่ละพื้นที่เป็น
4 ส่วน ได้แก่ 1.บริเวณใต้สะพานติดแม่น้ำเจ้าพระยา 2.บริเวณราวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 3.บริเวณจุดตัดแยกบ้านกรด 4.บริเวณแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32 อีกทั้งได้เตรียมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ครอบคลุมทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง อาทิเช่น กำหนดขอบเขตแนวเส้นทางโครงการให้ชัดเจน จำกัดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง หรือการติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราว ณ บริเวณพื้นที่อ่อนไหว เป็นต้น
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ จะรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
ซึ่งคาดว่าโครงการฯ สามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2572 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 2,200 ล้านบาท