ชาวไทยเชื้อสายมอญชุมชนวัดทองบ่อแห่ธงตะขาบ ห่มผ้าเจดีย์ พร้อมสรงน้ำพระด้วยกระบอกไม้ไผ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ วัดทองบ่อ ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานายดุสิต ศิริวราศัย นายอำเภอบางปะอิน เดินทางมาเป็นประธานพิธี งานประเพณีสงกรานต์ชาวรามัญประจำปี 2566 โดยมีพระครูอาทรพิพัฒนโกศล เจ้าอาวาสวัดทองบ่อ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสมทรงพันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายรัตนะ พันธุ์สวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านโพ ชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลบ้านโพ และ ตำบลขนอนหลวง พร้อมด้วยชาวไทยเชื้อสายมอญเสากระโดง กว่าหลายร้อยคนร่วม แห่ธงตะขาบ (โน่) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญและไม้ค้ำโพธิ์ พร้อมด้วยผ้าห่มเจดีย์วัดทองบ่อ ไปรอบๆ หมู่บ้าน ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร
จากนั้นร่วมแห่ธงตะขาบ (โน่) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ พร้อมด้วยผ้าห่มเจดีย์วัดทองบ่อ รอบเจดีย์จากนั้นร่วมกันส่งผ้าห่มเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ต่อมา ได้ร่วมพิธีสรงน้ำพระประเพณีชาวรามัญด้วยกระบอกไม้ไผ่ ด้วยการเทน้ำลงในรางไม้ไผ่เพื่อให้น้ำไหลไปตามรางไปสรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในที่กั้นมิดชิด โดยมีชาวบ้าน ประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมในขบวนแห่ กันอย่างคึกคัก หลังต้องหยุดจัดมาเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19
ในพื้นที่ ตำบลขนอนหลวง และ ตำบลบ้านโพ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านส่วนใหญ่ จะมีเชื้อสายรามัญมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนเล็กๆ โดยอพยพมาเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกู้เอกราช ซึ่งเหลือเพียงกลุ่มเดียวที่อยู่ใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า มอญเสากระโดง ซึ่งการจัดงานวันนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของชาวมอญเอาไว้ ทาง อบต.บ้านโพ จึงได้ร่วมกับทางวัดทองบ่อ และชาวบ้านจัดงานขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนรักสามัคคีกัน หวงแหนศิลปวัฒนธรรมและสืบสานประเพณีของชาวมอญให้ยั่งยืนอยู่คู่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่น เช่น การแต่งตัวของหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวมอญ การรับประทานข้าวแช่ การสวดมนต์ให้พรภาษามอญ และทางวัดได้จัดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้สรงน้ำพระสงฆ์ในกระโจมโดยใช้รางไม้ไผ่แบบชาวมอญด้วย พระครูอาทรพิพัฒนโกศล เจ้าอาวาสวัดทองบ่อ กล่าวว่า วัดทองบ่อ เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวมอญได้กระจัดกระจายอยู่ในอยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวเป็นชุมชนชาวมอญ อาศัยอยู่ประมาณ100 หลังคาเรือน ซึ่งทางวัด และชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีของชาวมอญไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์